เด็กสมาธิสั้น

เด็กสมาธิสั้น

ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ส่งผลให้ เด็กสมาธิสั้นได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคมโรคสมาธิสั้นจึงไม่ใช่แฟชั่นของเด็กสมัยใหม่ การเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทำให้คุณหมอมีโอกาสตรวจรักษาเด็กสมาธิสั้นจำนวนมาก โอกาสปิดภาคเรียนปีนี้ คุณหมอขอแสดงความยินดีกับเด็กสมาธิสั้นหลายคนที่ประสบความสำเร็จทางการเรียน  มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนคุณพ่อคุณแม่รู้สึกภาคภูมิใจ

เด็กสมาธิสั้นมีมากแค่ไหน?

เด็กทุกชาติ ทุกภาษาทั่วโลก เป็นเด็กสมาธิสั้น ประมาณร้อยละ 5 กรมสุขภาพจิตมีการสำรวจในประเทศไทยพบอุบัติการณ์ร้อยละ 8 อย่างไรก็ตาม เด็กสมาธิสั้นเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้รับบริการทางการแพทย์ ทั้งๆที่โรคสมาธิสั้นสามารถรักษาได้และผลการรักษาดีมาก

โรคสมาธิสั้นเกิดจากอะไร?

รายงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สมอง (Neuroscience) พบว่า เด็กสมาธิสั้นมีความบกพร่องในการทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) และมีสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) คือ โดปามีน (Dopamine) ในปริมาณต่ำกว่าเด็กปกติ ดังนั้นจึงส่งผลต่อระบบการทำงานของสมองบริเวณหรือตำแหน่งที่ควบคุมสมาธิและพฤติกรรม

เด็กสมาธิสั้นเป็นอย่างไร?

หน้าตาเหมือนเด็กปกติทุกประการ แต่จะพบปัญหาหลัก คือ

  1. อาการขาดสมาธิ (Inattention) เด็กจะมีความยากลำบากในการควบคุมตนเองให้มีสมาธิต่อเนื่อง เช่น ไม่มีสมาธิในการเรียน เหม่อลอย ทำการบ้านหรือจดงานไม่เสร็จตามเวลา เขียนหนังสือช้า วอกแวก เปลี่ยนความสนใจง่าย ลายมือหยาบ ทำงานเร่งรีบ เด็กสมาธิสั้นจำนวนมากจึงเรียนหนังสือต่ำกว่าระดับความสามารถที่แท้จริง (Academic Underachievement)
  2. อาการซุกซน และขาดการควบคุมตนเอง (Hyperactivity/ Impulsivity) คุณพ่อคุณแม่ บางคนกล่าวว่าว่าเด็กซนมากกว่าปกติตั้งแต่เริ่มเดิน  อยู่ไม่นิ่ง ชอบเดิน วิ่ง ปีนป่ายที่สูง พูดมาก พูดแทรกคนอื่น อดทนรอคอยได้ไม่นาน อารมณ์หงุดหงิดโมโหง่าย ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูเนื่องจากเด็กควบคุมตัวเองได้น้อย การดุด่าว่ากล่าว หรือทำโทษ สามารถควบคุมความซนได้เพียงเวลาสั้นๆ แล้วปัญหาเดิมก็เกิดอีก คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจึงรู้สึกเครียด หรือเอือมระอา เพราะรู้สึกว่า "สอนแล้วลูกไม่จำ"

ทำไมต้องรักษาเด็กสมาธิสั้น ?

เนื่องจากโรคสมาธิสั้น เกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมอง ดังนั้น อาการดังกล่าว จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กในหลายมิติ ทั้งการเรียน พฤติกรรม อารมณ์ ระเบียบวินัย การควบคุมตนเอง รวมถึงความยากลำบากในการเลี้ยงดู นอกจากนี้ เด็กหลายคนมีปัญหาอื่นๆ เช่น การเรียนรู้ต่ำกว่าเกณฑ์ ดื้อ ต่อต้าน อารมณ์รุนแรง ทะเลาะกับเพื่อน ผลกระทบจึงเกิดขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว

แพทย์รักษาโรคสมาธิสั้นอย่างไร ?

การศึกษาวิจัยเด็กสมาธิสั้นในอเมริกา (MTA study) ได้เผยแพร่ไปทั่วโลกเกี่ยวกับการรักษาที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วย การใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม ทั้งนี้ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นเป็นยาที่ปลอดภัยและให้ผลการรักษาดีมาก โดยยาจะเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทในสมองชื่อโดปามีน ที่ควบคุมสมาธิและพฤติกรรมให้มีระดับใกล้เคียงเด็กปกตินอกจากนี้ แพทย์จะให้คำปรึกษาแนะนำคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กให้เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ การปรับพฤติกรรม ด้าน การเรียน การฝึกวินัย การฝึกทักษะชีวิตและสังคม การสื่อสารในครอบครัวและ การเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง

แพทย์ใช้เกณฑ์ใดบ้างในการประเมินผลการรักษาเด็กสมาธิสั้น ?

  1. ระดับสติปัญญา (IQ) และทักษะการเรียน
  2. ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เด็กที่มีอารมณ์แจ่มใส รู้จักอดทนรอคอย มีความขยันหมั่นเพียร มีระเบียบวินัย มีทักษะสังคมที่ดี ภาคภูมิใจในตนเอง เด็กกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการปรับตัวสูง
  3. การเลี้ยงดูเพื่อปรับพฤติกรรมทางบวกให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะเช่น เสริมสร้างทักษะชีวิต ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีกิริยามารยาทน่ารัก บ่มเพาะ คุณธรรม จริยธรรม รู้จักใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ การปรับตัวเข้าหากันของสมาชิกทุกคนจึงเป็นพลังเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีลูกสมาธิสั้น
  4. การไม่มีปัญหาอื่นร่วมกับโรคสมาธิสั้น เช่น ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ดื้อ ต่อต้าน เกเร ก้าวร้าว ติดเกม เครียด ซึมเศร้า ใช้สารเสพติด
  5. การได้รับความช่วยเหลือจากครูประจำชั้น ครูผู้สอน เพื่อนๆ และไม่ตีตราให้เด็กรู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่น (stigmatization)
  6. การพบแพทย์และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ  

เด็กสมาธิสั้นสามารถพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ได้อย่างดียิ่ง หากได้รับการดูแลเอาใจใส่ร่วมกันจากทุกฝ่ายทั้งครอบครัว โรงเรียน สังคม การเดินทางมีทั้งทางตรง ทางแยกหรือเลี้ยวลดคดเคี้ยว "เด็กสมาธิสั้นจะก้าวย่างไปทิศทางใดขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่ควบคุมบังเหียนแห่งถนนชีวิต"

 

Visitors: 823,977